การจัดการภายในรังผึ้ง 3. การจัดการภายในรังผึ้ง

การจัดการภายในรังผึ้ง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการเลี้ยงผึ้งนั้นจะประสบผลสำเร็จแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคของการจัดการภายในรังผึ้ง ให้ถูกต้องกับความต้องการโดยธรรมชาติของผึ้งและคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของผึ้งเป็นหลัก ไม่ใช่ความต้องการของผู้เลี้ยงแต่อย่างเดียว ซึ่งบางครั้งด้วยความไม่เข้าใจและหวังดีต่อผึ้งที่เลี้ยงมากเกินไป แทนที่จะทำให้ผึ้งอยู่สบาย ๆ ตามธรรมชาติ จึงเปรียบเสมือนทำลายผึ้ง ควรจะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา ได้แก่
1. สถานที่ตั้งรังผึ้งดี มีแหล่งอาหารของผึ้งอุดมสมบูรณ์
2. ลักษณะคอน (เฟรม) รัง ดีได้คุณภาพมาตรฐาน
3. ผึ้งมีสุขภาพดี และนางพญาผึ้งดี
4. ผึ้งทั้งรังแข็งแรง มีประชากรหนาแน่น ปริมาณผึ้งกับจำนวนคอนสัมพันธ์กัน ในรังจะต้องมีคอนที่มีไข่ มีตัวหนอน ดักแด้ ผึ้งอนุบาล ผึ้งสนาม ในปริมาณที่หนาแน่น อย่าให้เกิดกรณีที่มีคอนมากกว่าจำนวนผึ้งเป็นอันขาด ให้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำบางคำที่ใช้กันในหมู่นักเลี้ยงผึ้ง การจัดการภายในรังให้ดีขึ้น ดังนี้
คอนแผ่นรังเทียม (Frame of Foundation) เป็นคอนที่มีแต่เพียงแผ่นรังเทียม ซึ่งเป็นแผ่นขี้ผึ้งที่อัดดอกลายขนาดฐานของหลอดรังผึ้ง เพื่อล่อให้ผึ้งดึงหลอดรังเป็นรวงผึ้ง ใช้สำหรับเสริมปริมาณคอนหรือรวงผึ้งในรัง เมื่อผึ้งมีปริมาณหนาแน่น และมีความต้องการหลอดรังหกเหลี่ยมขึ้นมาเต็มแผ่นทั้ง 2 ด้านของแผ่นรังเทียมที่เราใส่เข้าไปในตอนแรก ทำให้การปฏิบัติการได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ผึ้งดึงหลอดรัง สามารถนำไปใช้ได้ทันที คอนรวงผึ้งที่เป็นคอนเปล่า ๆ ยังไม่มีไข่ ตัวหนอน ดักแด้ น้ำหวานเกสร อยู่ในหลอดรัง เรียกว่า "รวงเปล่า" หรือ เอมตี้ค้อมป์ (Empty Comb)

ปริมาณน้ำหวานจะสังเกตได้จากบริเวณด้านบนของคอนผึ้ง
ปริมาณน้ำหวานจะสังเกตได้จากบริเวณด้านบนของคอนผึ้ง

คอนไข่ (Egg Comb) หมายถึง คอนที่มีแต่ละหลอดรังมีไข่ใบเล็ก ๆ อยู่เต็ม
คอนตัวอ่อน (Larvae Comb หรือ Young Brood Comb) เป็นคอนที่ในหลอดรังมีตัวอ่อนของหนอนผึ้งที่ฟักออกมาจากไข่ในวัยต่าง ๆ
คอนดักแด้หรือคอนซิลบรู๊ด (Seal Brood Comb) หมายถึงคอนผึ้งที่ตัวหนอนเจริญวัยลอกคราบเข้าดักแด้และปิดฝาหลอดรังแล้ว
คอนเกสร (Pollen Comb) เป็นคอนที่ผึ้งเอาเกสรมาเก็บไว้ในหลอดรัง
คอนน้ำผึ้ง (Honey Comb) เป็นคอนที่ผึ้งเอาน้ำผึ้งมาเก็บไว้
คอนบรู๊ด (Brood Comb) หมายถึงคอนที่มีผึ้งในวัยต่าง ๆ อยู่ในหลอดรัง ได้แก่ ไข่ ตัวหนอน และดักแด้ ถ้าเป็นคอนที่มีดักแด้ล้วน ๆ และปิดฝาหลอดรังแล้ว เราเรียกว่า ซีลบรู๊ด (Seal Brood)
การจัดการภายในรังผึ้ง ก็คือการจัดการสภาพภายในรังผึ้งให้เป็นไปตามธรรมชาตินั่นเอง การปรับปรุงคอนต่าง ๆ ภายในรังตลอดเวลา ซึ่งแยกการดำเนินการได้ ดังนี้
3.1 ลักษณะการเรียงลำดับ โดยปกติแล้วคอนของรวงผึ้งในรังหนึ่ง ๆ นั้น ส่วนใหญ่จะเหมือนรวงตามธรรมชาติ คือ หลอดรังผึ้งที่อยู่ตรงด้านบนสุด จะมีขนาดหลอดรังใหญ่จะเป็นที่เก็บน้ำผึ้ง ถัดลงมาจะเป็นหลอดรังที่เก็บเกสร และตรงกลางรวงจะเป็นที่อยู่ของหลอดรังที่เป็นดักแด้ ตัวหนอน และไข่ มีรูปร่าง กลม รี ดังนั้น การตรวจดูรังผึ้ง เมื่อพบคอนผึ้งมีลักษณะนี้ก็ถือว่าค่อนข้างจะดี คอนที่อยู่ด้านริมสุดกับด้านข้างของรังมักจะเป็นคอนที่เก็บเกสร และคอนที่อยู่ริมนอกสุดชิดกับกล่องให้น้ำหวานจะเป็นคอนน้ำหวาน กลุ่มคอนที่อยู่ตรงกลางจะเป็นคอนของไข่ ตัวหนอน และดักแด้

ลักษณะของเกสรในคอนจะมีหลากสีตามชนิดพืช
ลักษณะของเกสรในคอนจะมีหลากสีตามชนิดพืช

ภาพลักษณะการจัดเรียงคอน แบบ 5 คอน ภาพลักษณะการจัดเรียงคอน แบบ 10 คอน
คอนเลขที่ 1 เป็นคอนที่มีเกสร จะอยู่ด้านริมสุดใกล้กับทางเข้าออกของรัง และมักจะอยู่คงที่ บางครั้งก็มีน้ำหวานปนอยู่ด้วย
คอนเลขที่ 2 เป็นคอนที่มักจะมีน้ำหวานหรือน้ำผึ้งล้วนอยู่ด้านนอกสุดชิดกับกล่องให้อาหาร หรือด้านริมสุดอีกด้านหนึ่งของรัง
คอนเลขที่ 3 เป็นคอนที่มีไข่
คอนเลขที่ 4 เป็นคอนที่มีตัวหนอน
คอนเลขที่ 5 เป็นคอนที่เป็นดักแด้หรือซิลบรู๊ด
บางครั้งไข่และตัวหนอนอยู่คอนเดียวกัน (3+4) หรือในคอนบางคอนอาจมีตัวหนอนและดักแด้ปนกัน (4+5)
การตรวจและจัดการภายในรังทุก ๆ 7 วัน จะสัมพันธ์พอดีกับการเจริญของตัวหนอนผึ้งและดักแด้ในหลอดรัง เราทราบว่า เมื่อผึ้งนางพญาวางไข่แล้ว ไข่จะใช้เวลา 3 วัน ที่จะฟักออกมาเป็นตัวหนอน และตัวหนอนผึ้งจะมีการลอกคราบรวม 4 ครั้ง ผึ้งงานจะใช้เวลาในการเป็นตัวหนอนประมาณ 6-7 วัน ถึงจะเข้าดักแด้ ผึ้งตัวผู้หรือโดรน จะใช้เวลาในการเป็นตัวหนอน 8-9 วัน ผึ้งนางพญาจะใช้เวลา 5-6 วัน เท่านั้น ส่วนระยะที่จะฟักตัวเป็นดักแด้จะแตกต่างกันไป ผึ้งงานใช้เวลา 10-11 วัน ผึ้งตัวผู้ใช้เวลาในระยะดักแด้ประมาณ 11-12 วัน ผึ้งนางพญาใช้เวลาเพียง 6-7 วันที่จะอยู่ในหลอดของดักแด้

ตารางแสดงวงจรชีวิตของผึ้งประเภทต่าง ๆ
ระยะ (วัน) ไข่ ระยะตัวหนอน ระยะดักแด้ รวม (วัน) ระยะตัวเต็มวัย
ผึ้งงาน36-710-1119-212-3 เดือน
ผึ้งตัวผู้38-911-1222-242-3 เดือน
ผึ้งนางพญา35-66-714-16 2-4 ปี

โดยปกติแล้วถ้าจัดการภายในรังให้ดีพอ มีอาหารสมบูรณ์โดยธรรมชาติ ผึ้งรังหนึ่ง ๆ สามารถจะเพิ่มคอนได้ทุก ๆ 7-10 วัน ในช่วง 2 เดือน สามารถจะทำให้ผึ้งรังนั้นแข็งแรง และมีประชากรแน่นตลอด 10 คอน มีความเป็นไปได้ และถ้ายังมีเวลานานพอที่จะถึงฤดูดอกไม้บาน ก็สามารถแยกรังออกไปได้อีก โดยแบ่งผึ้งออกเป็น 2 รัง ๆ ละ 5 คอน และหาผึ้งนางพญาที่วางไข่แล้วมาใส่ให้ผึ้งรังใหม่

3.2 การเสริมคอนที่เป็นค้อมป์แล้ว

ไม่ต้องเสียเวลาให้ผึ้งดึงหลอดรังอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าใส่แผ่นรังเทียมในผึ้งที่มีประชากรยังไม่แข็งแรงพอจะทำให้ผึ้งรังนี้โทรมเร็ว และในระยะที่ดอกไม้บานถ้าต้องการจะได้น้ำผึ้งมากแล้วต้องใส่ค้อมป์แทนการใส่แผ่นรังเทียม การใส่ค้อมป์เพื่อเพิ่มคอนให้เป็นที่อยู่ของผึ้งนั้น ให้ใส่ชิดกับคอนที่เป็นน้ำหวาน หรือ เกสร เพื่อผึ้งนางพญาวางไข่แล้วตัวหนอนจะได้อยู่ใกล้คอนเกสรและน้ำหวาน ผึ้งอนุบาลสามารถจะนำมาเลี้ยงดู ตัวหนอนผึ้งได้

3.3 อายุของการใช้ค้อมป์

ค้อมป์ชุดหนึ่ง ๆ ควรจะใช้ไม่เกิน 2 ปี ลักษณะค้อมป์ที่เก่าจะมีสีน้ำตาลดำ และสีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดของหลอดรังจะเหี่ยวและเล็กลง ๆ เรื่อย ๆ ถ้าทำให้ได้ผึ้งงานที่มีขนาดตัวเล็ก ๆ เรื่อย ๆ ดังนั้น ทุก ๆ 2 ปี เราควรนำคอนเก่านั้นมาหลอมเอาไขผึ้งไว้ใช้ แล้วใส่คอนใหม่เข้าไปแทน

3.4 การเสริมคอนที่เป็นแผ่นรังเทียม (Foundation Comb)

ในกรณีที่มีแต่แผ่นรัง เทียมล้วน ๆ ไม่มีคอนที่เป็นแผ่นค้อมป์อยู่เลย เนื่องจากมีประชากรผึ้งแน่นขึ้น และมีอาการว่าต้องการคอนเพิ่ม โดยสร้างไขผึ้งขึ้นมาบนหลังคอนหรือก่อรวงเล็ก ๆ ตรงด้านใต้ของฝาปิดด้านในของรัง การใส่คอนเพิ่ม โดยใช้แผ่นรังเทียมนั้น ควรยึดหลักดังนี้
1. ใส่คอนที่เป็นแผ่นรังเทียมเข้าไปทีละ 1 คอน
2. ใส่ด้านที่ชิดกับคอนที่เก็บน้ำหวาน
3. ห้ามใส่แทรกลงตรงกึ่งกลางของกลุ่มคอนที่เป็นซิลบรู๊ด
4. ให้น้ำเชื่อมแก่ผึ้งให้เต็มที่ เพราะถ้าขาดน้ำหวานโดยธรรมชาติหรือขาดน้ำเชื่อม แล้วผึ้งจะกัดแผ่นรังเทียม ทำให้แผ่นรังเทียมนั้นเสียไปได้

3.5 การสร้างค้อมป์จากแผ่นรังเทียม

รังผึ้งที่แข็งแรง และมีประชากรหนาแน่น เลือกเอาผึ้งรังนั้นไว้เป็นรังสต๊อกสำหรับสร้างค้อมป์ เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ดังนี้
1) เพื่อสร้างค้อมป์ สำหรับเสริมรังผึ้งรังอื่น ๆ ในการขยายบรู๊ด
2) เพื่อสร้างค้อมป์สำหรับเตรียมไว้ใช้เก็บน้ำหวานในฤดูดอกไม้บาน

3.6 การเก็บรักษาค้อมป์

ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ สำหรับการเก็บรักษาค้อมป์ ก็คือจะถูกหนอนผีเสื้อกินไขผึ้งเข้าทำลาย เป็นหนอนที่เกิดจากผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่ง มาไข่ไว้แล้วตัวหนอนจะกินไขผึ้ง ทำให้หลอดรวงผึ้งถูกหนอนชอนไชเป็นขุยไปหมด ทำให้เกิดความเสียหายมาก ดังนั้นควรจะเก็บคอนที่เป็นค้อมป์ไว้ในกล่องรังที่ปิดมิดชิด ไม่ให้ผีเสื้อลอดเข้าไปได้พร้อมทั้งใส่ยารมพวกพาราไดคลอโรเบนซิน โดยนำพาราไดคลอโรเบนซินใส่ในภาชนะเล็ก ๆ ไว้ในรังชั้นบนแล้วปิดฝารังไว้ให้มิดชิด พาราไดคลอโรเบนซิน จะค่อย ๆ ระเหยไปเป็นพิษ ซึ่งหนักกว่าอากาศจะกระจายตัวไปทั้งกล่องรังเป็นการป้องกันและกำจัดหนอนกินไขผึ้งได้

เมนูหลัก ผึ้งและการเลี้ยงผึ้ง