ลักษณะของผึ้งและชีวิตสังคมผึ้ง ลักษณะทั่วไปของผึ้ง แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ

1. ส่วนหัว ประกอบด้วยอวัยวะรับความรู้สึกต่าง ๆ ที่สำคัญ คือ
ตารวม มีอยู่ 2 ตา ประกอบด้วยดวงตาเล็ก ๆ เป็นรูปหกเหลี่ยมหลายพันตา รวมกัน เชื่อติดต่อกันเป็นแผง ทำให้ผึ้งสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้รอบทิศ
ตาเดี่ยว อยู่ด้านบนส่วนหัว ระหว่างตารวมสองข้าง เป็นจุดเล็ก ๆ 3 จุด อยู่ ห่างกันเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งตาเดี่ยวนี้จะเป็นส่วนที่รับรู้ในเรื่องของความเข้มของแสง ทำให้ผึ้งสามารถแยกสีต่าง ๆ ของสิ่งของที่เห็นได้ ฟริช ดาร์ล ฟอน ได้ทำการศึกษาและพบว่าผึ้งสามารถเห็นสีได้ 4 สี คือ สีอุลต้าไวโอเลต สีฟ้า สีฟ้าปนเขียว และสีเหลือง ส่วนช่วงแสงที่มากกว่า 700 มิลลิไมครอน ผึ้งจะมอบเห็นเป็นสีดำ
หนวด ประกอบข้อต่อและปล้องหนวดขนาดเท่า ๆ กันจำนวน 10 ปล้อง ประกอบเป็นเส้นหนวด ซึ่งจะทำหน้าที่รับความรู้สึกที่ไวมาก
2. ส่วนอก จะกอบด้วยปล้อง 4 ปล้อง ส่วนด้านล่างของอกปล้องแรกมีขาคู่หน้า อมปล้องกลางมีขาคู่กลางและด้านบนปล้องมีปีกคู่หน้าซึ่งมีขนาดใหญ่หนึ่งคู่ ส่วนล่างอกปล้องที่ 3 มีขาคู่ที่สามซึ่งขาหลังของผึ้งงานนี้จะมีตระกร้อเก็บละอองเกสรดอกไม้ และด้านบนจะมีปีกคู่หลังอยู่หนึ่งคู่ที่เล็กกว่าปีกหน้า
3. ส่วนท้อง ส่วนท้องของผึ้งงานและผึ้งนางพญาเราจะเห็นภายนอกเพียง 6 ปล้อง ส่วนปล้องที่ 8-10 จะหุบเข้าไปแทรกตัวรวมกันอยู่ในปล้องที่ 7 ส่วนผึ้งตัวผู้จะเห็น 7 ปล้อง
ลักษณะภายนอกของผึ้งงาน
ลักษณะภายนอกของผึ้งงาน
อวัยวะภายในของผึ้ง
อวัยวะภายในของผึ้ง จะมีระบบต่าง ๆ เช่น ระบบย่อยอาหาร ซึ่งมีกระเพาะพักย่อยน้ำหวานให้เป็นน้ำผึ้ง ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบหายใจเป็นลักษณะแบบรูหายใจมีอยู่ 10 คู่ ระบบประสาทและรับความรู้สึกต่าง ๆ ระบบสืบพันธุ์ ซึ่งในผึ้งงานจะไม่เจริญสมบูรณ์ แต่จะเจริญสมบูรณ์ในผึ้งนางพญา ส่วนผึ้งตัวผู้จะมีอวัยวะสืบพันธุ์เพศผู้ที่สมบูรณ์
วรรณะของผึ้ง แบ่งออกเป็น 3 วรรณะคือ
1. ผึ้งนางพญา (The Queen)
ผึ้งนางพญาสามารถแยกออกจากผึ้งตัวผู้ และผึ้งงานได้โดยง่าย เพราะผึ้งนางพญาจะมีขนาดใหญ่ และมีลำตัวยาวกว่าผึ้งตัวผู้และผึ้งงาน ปีกของผึ้งนางพญาจะมีขนาดสั้น เมื่อเทียบกับความยาวของลำตัว เนื่องจากส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะค่อนข้างเรียวยาว ดูแล้วมีลักษณะคล้ายกับตัวต่อ ผึ้งนางพญาจะมีเหล็กไน ซึ่งมีไว้สำหรับต่อสู้กับนางพญาตัวอื่นเท่านั้น ไม่เหมือนผึ้งงานที่ใช้เหล็กไนไว้ทำร้ายศัตรู การเคลื่อนไหวของผึ้งนางพญาค่อนข้างเชื่องช้า แต่สุขุมรอบคอบ แต่ถ้าจำเป็นก็พบว่านางพญาสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็วเช่นกัน ในรังผึ้งนางพญาที่ถูกผสมพันธุ์แล้วเรามักจะพบอยู่บริเวณรวงผึ้งที่มีตัวอ่อนอยู่ภายในหลอดรวง นางพญาจะถูกห้อมล้อมด้วยผึ้งงาน โดยผึ้งงานจะใช้หนวดแตะหรือใช้ลิ้นเลียตามตัวผึ้งนางพญา ผึ้งงานเหล่านี้ทำหน้าที่คอยให้อาหาร ทำความสะอาดและนำของเสียที่ผึ้งนางพญาขับถ่ายออกไปทิ้ง นอกจากนั้นผึ้งงานยังรับเอาสารที่ผึ้งนางพญาผลิตออกมา แล้วส่งต่อให้ผึ้งงานตัวอื่น ๆ หรือใช้ปีกกระพือให้กลิ่นของสารแพร่กระจายไปทั่วรังผึ้ง

นางพญาผึ้งจะมีขนาดใหญ่และมีลำตัวยาว ปีกจะสั้นกว่าลำตัว
นางพญาผึ้งจะมีขนาดใหญ่และมีลำตัวยาว ปีกจะสั้นกว่าลำตัว

รังผึ้งในสภาพปกติจะมีผึ้งนางพญาอยู่เพียงตัวเดียวเท่านั้น โดยผึ้งนางพญาจะมีหน้าที่สำคัญ คือ
1. ผสมพันธุ์
2. วางไข่
3. ควบคุมสังคมของผึ้งให้อยู่ในสภาพปกติ โดยการผลิตสารเคมีแพร่กระจาย ไปทั่วรังผึ้ง ผึ้งนางพญาจะไม่มีการออกหาอาหาร ไม่มีตะกร้อเก็บเกสร (Pollen basket) และไม่มีต่อมผลิตไขผึ้ง
นางพญาพรหมจรรย์ (The Virgin Queen) เมื่อตัวอ่อนของผึ้งนางพญาโตเต็มที่แล้ว ผึ้งงานก็จะทำการปิดหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ตัวอ่อนภายในก็จะเริ่มเข้าดักแด้ โดยจะถักเส้นไหมห่อหุ้มรอบตัวแล้วกลายเป็นดักแด้ และเป็นตัวเต็มวัยในที่สุด ผึ้งนางพญาที่โตเต็มที่แล้วจะกัดฝาหลอดรวงที่ปิดอยู่ออกมา
ถ้าสภาพรังผึ้งขณะนั้น ผึ้งเตรียมตัวจะแยกรัง (Swarming) ผึ้งงานจะคอยป้องกันผึ้งนางพญาตัวใหม่ไม่ให้ผึ้งนางพญาตัวเก่ามาทำร้าย เมื่อผึ้งนางพญาตัวเก่าแยกรังออกไปแล้ว ผึ้งนางพญาตัวใหม่ก็จะออกผสมพันธุ์เป็นนางพญาประจำรังนั้นต่อไป

การผสมพันธุ์ (Mating)

เมื่อผึ้งนางพญามีอายุได้ 3-5 วัน ก็จะเริ่มออกบินเพื่อผสมพันธุ์ การผสมพันธุ์ของผึ้งจะเกิดขึ้นเฉพาะในกลางอากาศเท่านั้น โดยในวันที่อากาศดี ๆ ท้องฟ้าแจ่มใส ผึ้งนางพญาจะบินออกจากรัง เมื่อผึ้งตัวผู้ได้รับกลิ่นของผึ้งนางพญาก็จะพากันบินติดตามไปเป็นกลุ่ม ผึ้งตัว ผู้จะเป็นผึ้งที่มาจากรังผึ้งในบริเวณนั้น การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในระยะความสูงตั้งแต่ 50-100 ฟุต ถ้าต่ำหรือสูงกว่านี้ ก็จะไม่มีการผสมพันธุ์ ผึ้งนางพญาตัวหนึ่งจะผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้ครั้งหนึ่งประมาณ 7-10 ตัว หรือบางทีอาจถึง 20 ตัว ระยะเวลาในการผสมพันธุ์ประมาณ 10-30 นาที โดยที่ผึ้งนางพญา จะมีถุงสำหรับเก็บน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ (Sperm) ไว้ได้ตลอดอายุของผึ้งนางพญา โดยไม่ต้องมี การผสมพันธุ์อีกเลย
เมื่อผึ้งนางพญาบินกลับมาจากการผสมพันธุ์ ผึ้งงานก็จะเข้ามาช่วยทำความสะอาด และดึงเอาอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ที่ติดมาออกทิ้งไป หลังจากผสมพันธุ์แล้ว ส่วนท้องของผึ้งนางพญาจะขยายใหญ่ขึ้นภายใน 2-4 วัน ผึ้งนางพญาก็จะเริ่มวางไข่ โดยมุดหัวเข้าไปแล้วกางขาคู่หน้าออกวัดขนาดของหลอดรวง เพื่อที่จะได้รู้ว่าควรจะวางไข่ชนิดไหน แล้วจะถอนกลับออกมา หย่อนส่วนท้องลงไปวางไข่ที่ก้นหลอดรวงนั้น ถ้าหลอดรวงที่วัดได้มีขนาดเล็ก (ประมาณ 0.5 มม.) ผึ้งนางพญาจะวางไข่ของผึ้งงานคือ ไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ มี-โครโมโซม 2 n ถ้าหลอดรวงที่วัดได้มีขนาดใหญ่ (ประมาณ 0.7-0.8 มม.) ผึ้งนางพญาจะวางไข่ของผึ้งตัวผู้ คือไข่ที่มีการผสมกับน้ำเชื้อของผึ้งตัวผู้ มีโครโมโซม n เดียว
ผึ้งนางพญาจะวางไข่ติดต่อกันในเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉลี่ยประมาณ 1,200 ฟองต่อวัน หรือบางตัวอาจถึง 2,000 ฟองต่อวัน ซึ่งคิดแล้วน้ำหนักของไข่ที่วางต่อวันนี้หนักเป็น 1-2 เท่าของน้ำหนักตัวของผึ้งนางพญาปริมาณการวางไข่ของผึ้งนางพญา ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าในเขตร้อนผึ้งนางพญาสามารถวางไข่ได้ตลอดปี ตัวอ่อนของผึ้งจะเจริญได้ดีที่อุณหภูมิประมาณ 32-35C ผึ้งจะรักษาอุณหภูมิภายในรังให้คงที่อยู่ตลอดเวลา

2. ผึ้งตัวผู้ (The Drone)

ผึ้งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่และตัวอ้วนกว่าผึ้งนางพญาและผึ้งงาน แต่จะมีความยาวน้อยกว่าผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้จะไม่มีเหล็กไน ลิ้นจะสั้นมาก มีไว้สำหรับคอยรับอาหารจากผึ้งงาน หรือดูดกินน้ำหวานจากที่เก็บไว้ในรวงเท่านั้น ผึ้งตัวผู้จะไม่มีการออกไปหาอาหารกินเองภายนอกรัง ผึ้งตัวผู้ไม่มีที่เก็บละอองเกสร เป็นที่ทราบกันดีว่าผึ้งตัวผู้มีหน้าที่อย่างเดียวภายในรัง คือผสมพันธุ์ผึ้งตัวผู้จะไม่ทำงานอะไรทั้งสิ้นภายในรัง ปริมาณของผึ้งตัวผู้ภายในรังไม่แน่นอน อาจมีได้ตั้งแต่ศูนย์ถึงหลายพันตัวขึ้นกับฤดูกาล ผึ้งตัวผู้จะเจริญมาจากไข่ที่ไม่ได้รับการผสม (Un-fertilized egg) เมื่อตัวอ่อนของผึ้งตัวผู้โตเต็มที่ ผึ้งงานก็จะมาปิดฝาหลอดรวงด้วยไขผึ้ง ผึ้งตัวผู้ก็จะเข้าดักแด้อยู่ภายใน เมื่อครบกำหนดก็จะกัดไขผึ้งที่ปิดฝาออกมาเป็นตัวเต็มวัย อายุประมาณ 16 วัน พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้

ผึ้งตัวผู้มีขนาดใหญ่ ตัวอ้วน ตาโต
ผึ้งตัวผู้มีขนาดใหญ่ ตัวอ้วน ตาโต

ในการผสมพันธุ์พบว่า ผึ้งตัวผู้จากรังผึ้งต่าง ๆ ในปริมาณใกล้เคียงกันจะบินออกจากรังไปรวมกลุ่มกัน ณ สถานที่ซึ่งเรียกว่า ที่รวมกลุ่มของผึ้งตัวผู้ (Drone Congregation Area) ในวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส การผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นภายในบริเวณนี้คือเมื่อมีผึ้งนางพญาสาวบินเข้ามาในบริเวณนี้ ผึ้งตัวผู้เป็นกลุ่มก็จะบินติดตามไปเพื่อผสมพันธุ์ ตัวผู้แต่ละตัวใช้เวลาประมาณ 3-5 วินาที ในการผสมพันธุ์โดยเริ่มตั้งแต่ผึ้งตัวผู้บินติดตามนางพญาได้ทัน ก็จะใช้ขาเกาะติดกับนางพญาทางด้านหลัง แล้วก็จะออกแรงดันให้อวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้เข้าไปในอวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งนางพญาแล้วผึ้งตัวผู้นั้นก็จะตกลงมาตาย โดยที่อวัยวะสืบพันธุ์ยังหลุดติดคาอยู่ที่ผึ้งนางพญา ถ้าตัวผู้ตัวไหนยังไม่ได้ผสมพันธุ์ในวันนั้นจะบินกลับรัง เพื่อรอโอกาสในวันต่อไป ถ้าหมดฤดูผสมพันธุ์ผึ้งตัวผู้ที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์ก็มักจะถูกไล่ออกจากรัง หรือผึ้งงานจะหยุดป้อนอาหารและตายไปในที่สุด

3. ผึ้งงาน (The Worker)

ผึ้งงานเป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุดภายในรังผึ้ง แต่มีปริมาณมากที่สุด ผึ้งงานถือ กำเนิดมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับเชื้อตัวผู้ (Fertilized egg) ผึ้งงานเป็นเพศเมีย เช่นเดียวกับผึ้งนางพญา แต่เป็นเพศเมียที่ไม่สมบูรณ์ คือส่วนของรังไข่จะมีขนาดเล็กไม่สามารถสร้างไข่ได้ ยกเว้นในกรณีที่รังผึ้งรังนี้เกิดขาดนางพญาขึ้นมาก็พบว่า อาจมีผึ้งงานบางตัวสามารถวางไข่ได้ (Laying Worker) แต่ไข่ที่วางจะเป็นไข่ที่เป็นผึ้งตัวผู้

ผึ้งงานกำลังทำหน้าที่ภายในรัง
ผึ้งงานกำลังทำหน้าที่ภายในรัง

ผึ้งงานจะมีอวัยวะพิเศษหลายอย่าง เพื่อที่จะปฏิบัติงานสำคัญ ๆ ภายในรังไข่ เช่น มีต่อมไขผึ้ง ตะกร้อเก็บเกสร ต่อมกลิ่น
ปัจจัยที่ควบคุมการทำงานของผึ้งงานนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ
1. ความพร้อมทางด้านการพัฒนาการของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย คือ ผึ้งจะปฏิบัติงานต่าง ๆ ได้นั้นขึ้นกับอายุของตัวเต็มวัยของผึ้งงาน

ตารางที่ 1 แสดงอายุหน้าที่และการเจริญของต่อมต่างๆ ของผึ้งงาน
อายุตัวเต็มวัย (วัน) หน้าที่ ต่อม
1 - 3 ทำความสะอาดรัง  
4 - 11 ให้อาหารตัวอ่อน ต่อมพี่เลี้ยง (Nnurse Gland)
12 - 17 สร้างและซ่อมแซมรวง ต่อมผลิตไขผึ้ง (Wax Gland)
18 - 21 ป้องกันรัง ต่อมพิษ (Poison Gland)
22 - ตาย หาอาหารยางไม้และน้ำ ต่อมน้ำลาย (Salivary Gland) และ ต่อมกลิ่น (Scent Gland)

2. ความต้องการของสังคมผึ้งในขณะนั้น ยามที่สังคมผึ้งมีความจำเป็นเร่ง ด่วนที่จะให้มีผึ้งจำนวนมากร่วมปฏิบัติภารกิจบางอย่างด้วยกัน การทำงานของผึ้งงานแต่ละตัวก็อาจข้ามหรือถอยหลังจากกำหนดการทำงานปกติตามความพร้อมของร่างกายก็ได้ เช่น ถ้ารวงผึ้งเกิดความเสียหาย หรือจำเป็นต้องเสริมสร้างรวงเพิ่มเติม ผึ้งงานที่อายุมาก ๆ ก็จะไปกินน้ำหวานเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะมีผลไปกระตุ้นให้ต่อมผลิตไขผึ้งที่ฝ่อไป แล้วเจริญขึ้นมาสามารถผลิตไขผึ้งได้

การเจริญเติบโต (Development Stage)

ไข่ที่ผึ้งนางพญาวางออกมาจะมีลักษณะสีขาวยาวปลายมนทั้ง 2 ข้าง ไข่จะถูกวางตั้งขึ้นมาจากก้นหลอดรวง เมื่อไข่อายุได้ 3 วัน ก็จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนจะมีสีขาวลอยอยู่ในอาหารที่ผึ้งพยายามเอามาป้อนให้ ตัวอ่อนจะนอนขดอยู่ที่ก้นหลอดรวง เมื่อตัวอ่อนมีขนาดใหญ่ขึ้นเต็มก้นหลอดรวง ตัวอ่อนก็จะยืดตัวยาวออก โดยเอาหัวออกมาทางปากหลอดรวงแล้วเริ่มถักใยหุ้มตัว เริ่มเข้าดักแด้อยู่ภายในรังไหมนั้นแล้วก็จะออกมาเป็นตัวเต็มวัยต่อไปในระยะตัวอ่อน ผึ้งจะมีการลอกคราบ 5 ครั้ง
การเจริญเติบโตของผึ้งนางพญา ผึ้งตัวผู้และผึ้งงานจะคล้ายคลึงกันแตกต่างกันก็ที่ระยะเวลาของการเจริญเติบโตแต่ละขั้น

ตารางที่ 2 แสดงระยะการเจริญเติบโตของแต่ละวรรณะ (วัน)
วรรณะ ระยะไข่ ระยะตัวหนอน ระยะดักแด้ รวมเวลา
ผึ้งนางพญา35 1/27 1/216
ผึ้งตัวผู้ 3 6 1/2 14 1/2 24
ผึ้งงาน 3 6 12 21

พฤติกรรมภายในรังผึ้ง (Activities of Hive Bees)
การสร้างรวง (Comb Building)

โดยปกติผึ้งงานจะใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งอยู่ภายในรัง และอีกครึ่งหนึ่งอยู่ภายนอกรัง งานสร้างรวงและเลี้ยงตัวอ่อนเป็นงานหลักที่สำคัญภายในรังผึ้ง
ไขผึ้ง คือ วัสดุที่ผึ้งใช้ในการสร้างรวง ไขผึ้งถูกผลิตขึ้นมาจากต่อมผลิตไขผึ้งอยู่ที่ด้านล่างของปล้องท้องปล้องที่ 3-6 ของผึ้งงานปล้องละ 1 คู่ โดยจะมีทั้งหมด 4 คู่ ผึ้งงานที่ผลิตไขผึ้งได้โดยทั่วไป จะมีอายุอยู่ระหว่าง 12-17 วัน ไขผึ้งที่ผลิตออกมาจะเป็นเกล็ดบาง ๆ สีขาวใสมีขนาดเล็ก โดยผึ้งงานจะต้องกินน้ำหวานเป็นปริมาณมากมีผู้คำนวณว่าโดยเฉลี่ย ผึ้งจะใช้น้ำหวานประมาณ 8.4 กก. ในการผลิตไขผึ้ง 1 กก. ผึ้งก็จะเริ่มสร้างรวง โดยจะใช้ขาคู่หลังเกี่ยวเอาเกล็ดไขผึ้งใต้ท้องมาใส่ปากเคี้ยว โดยใช้ขาคู่หน้าช่วย ไขผึ้งที่ถูกผึ้งเคี้ยวใหม่จะมีลักษณะคล้ายฟองน้ำ ผึ้งก็จะนำไปติดกับส่วนรวงที่ต้องการสร้างแล้วทำการปั้นตามรูปร่างที่ต้องการ

ผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงหกเหลี่ยมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย
ผึ้งงานจะสร้างหลอดรวงหกเหลี่ยมเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย

การเลี้ยงดูตัวอ่อน (Nursing)

ผึ้งงานจะทำหน้าที่เป็นผึ้งพยาบาล หรือเลี้ยงดูตัวอ่อน ก็เมื่อมีอายุได้ประมาณ 3 วัน หลังจากฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย จนมีอายุประมาณ 11 วัน ต่อมพี่เลี้ยงที่อยู่โคนกล้ามทั้ง 2 ข้างจะค่อย ๆ ฝ่อไป ผึ้งก็จะเปลี่ยนหน้าที่ไป
ผึ้งพยาบาลจะเข้าไปเยี่ยมดูแลไข่ทันทีที่ผึ้งนางพญาวางไข่ หรือจากนั้นไข่นั้นก็จะถูก ตรวจเยี่ยมโดยผึ้งพยาบาลบ่อยครั้ง ในระยะไข่จนถึงระยะตัวหนอน
ในช่วงอายุตัวหนอน 2 วันแรก หลังจากฟักออกจากไข่ ผึ้งพยาบาลจะให้อาหารแก่ตัวหนอนมากจนเกินพอเราจึงเห็นคล้ายกับตัวหนอนลอยอยู่ในอาหารที่คล้ายน้ำนมสีขาว พอตัวหนอนอายุได้ 3 วัน อาหารที่มีอยู่ก็ถูกใช้ไปจนถึงวันที่ 4 อาหารที่ตัวหนอนลอยอยู่นั้น ก็จะถูกกินหมด ตัวหนอนก็ต้องคอยให้ผึ้งพยาบาลมาป้อน

การป้อนน้ำหวาน (Food Sharing)

ผึ้งสามารถจะกินน้ำหวานที่อยู่ในหลอดรวงได้ด้วยตัวเอง แต่บ่อยครั้งที่ผึ้งจะป้อนน้ำหวานซึ่งกันและกัน ผึ้งนางพญาและผึ้งตัวผู้เราแทบจะไม่พบเลยว่ากินอาหารด้วยตัวเอง ต้องอาศัยผึ้งงานมาป้อนให้เสมอ ความจริงแล้วการป้อนน้ำหวานจุดประสงค์ก็เพื่อเป็นการสื่อสารกันอย่างหนึ่ง เพราะในน้ำหวานที่ผึ้งป้อนซึ่งกันและกันจะมีสารเคมีที่มาจากผึ้งนางพญาหรือจากผึ้งงานตัวอื่น ๆ ปนอยู่ด้วย สารนี้สามารถแพร่กระจายไปได้ทั่วรังผึ้งในเวลาอันรวดเร็ว การป้อนอาหารนี้เกิดขึ้นเฉพาะการป้อนน้ำหวานเท่านั้น ส่วนละอองเกสรจะไม่มีการป้อนกัน ถ้าผึ้งต้องการกินเกสรก็จะไปกินเองจากหลอดรวงที่เก็บละอองเกสร

การป้องกันรัง (Guard Duty)

โดยทั่วไปผึ้งที่มีหน้าที่ป้องกันรังมักจะพบอยู่บริเวณปากทางเข้ารังผึ้ง แต่ในฤดูดอกไม้บาน (Honey Flow) จะมีผึ้งทหารอยู่ที่ปากทางเข้ารังน้อย ดังนั้นผึ้งจากรังอื่นที่ชิมน้ำหวานหรือเกสรมาด้วยเมื่อเข้าผิดรังก็อาจไม่ได้รับอันตราย แต่ถ้าเป็นฤดูที่น้ำหวานน้อยจะพบผึ้งทหารอยู่ที่ทางเข้ามากเพื่อคอยไม่ให้ผึ้งจากรังอื่นหรือศัตรูผึ้งอื่นเข้ามาขโมยน้ำหวานในรังผึ้ง ในฤดูนี้จึงค่อนข้าง ดุ ผึ้งทหารที่เฝ้าอยู่หน้ารังจะยืนในลักษณะที่ยืนบนขาคู่หลัง 2 คู่ ส่วนขาหน้ายกขึ้นจากพื้น หนวดชี้ไปข้างหน้ากรามทั้ง 2 ข้าง จะหุบเข้าหากัน แต่ถ้าผึ้งเกิดตกใจขึ้นมาก็จะกางกรามออกปีกคลี่ออกเตรียมพร้อมที่จะเข้าโจมตีศัตรู ผึ้งทหารจะใช้เวลาตรวจสอบผึ้งที่เข้ามาในรังประมาณ 1-3 วินาที โดยจะใช้หนวดแตะตามลำตัว

ผึ้งงานกำลังป้องกันรังจากตัวต่อที่มาจับผึ้งกิน
ผึ้งงานกำลังป้องกันรังจากตัวต่อที่มาจับผึ้งกิน

การขโมยน้ำหวาน (Robbing)

การขโมยน้ำหวาน เรามักจะพบได้เสมอโดยเฉพาะในรังผึ้งที่อ่อนแอ คืออาจเป็นโรคแต่ผึ้งทหารก็สามารถรับรู้ได้โดยกลิ่นของผึ้งขโมยจะผิดแผกไป และลักษณะการบินจะบินวนเวียนอยู่หน้ารัง เมื่อผึ้งทหารจับผึ้งขโมยได้ก็จะเข้าทำการต่อสู่กัน โดยใช้ทั้งกรามและเหล็กไนเป็นอาวุธ ส่วนมากผลของการต่อสู้มักจะตายทั้งสองฝ่าย

การกระพือปีก (Fanning)

ผึ้งงานสามารถปรับอุณหภูมิภายในรังให้สม่ำเสมอได้โดยการกระพือปีกอยู่ที่ทางเข้าของรังผึ้ง จะทำให้อากาศภายในรังหมุนเวียนถ่ายเทตลอดเวลา ลักษณะของการกระพือปีก ผึ้งงานจะอยู่ในท่าเกาะ ส่วนท้องจะโค้งแล้วกระพือปีกอย่างรวดเร็ว แล้วยังทำให้น้ำหวานที่เก็บสะสมอยู่ในหลอดรวงกลายเป็นน้ำผึ้ง คือ ความชื้นหรือน้ำที่ปนอยู่จะระเหยออกมาทำให้น้ำผึ้งนั้นเป็นน้ำผึ้งที่มีความชื้นน้อยที่สุด ถ้าในกรณีที่อุณหภูมิสูงมาก ๆ จนผึ้งไม่สามารถจะปรับอุณหภูมิได้ ผึ้งจะออกมาเกาะกันเป็นก้อนอยู่หน้ารัง เพื่อหนีอากาศร้อนภายในรัง

ผึ้งงานกำลังกระพือปีกส่งกลิ่นฟีโรโมนบอกทาง
ผึ้งงานกำลังกระพือปีกส่งกลิ่นฟีโรโมนบอกทาง

การกระพือปีกอีกแบบหนึ่งคือ ส่วนท้องของผึ้งงานจะชี้ขึ้น แต่ปล้องท้องปล้องสุดท้ายจะโค้งลงทำให้ต่อมกลิ่นเปิดออก ผึ้งงานจะกระพือปีกอย่างรวดเร็ว ทำให้กลิ่นแพร่กระจายออกไป การกระพือปีกแบบนี้เป็นการแพร่กระจายกลิ่น (Orientation fanning) เพื่อส่งข่าวสาร บางอย่าง

การทำงานของผึ้งสนาม (Working Habit of Field Bees)

โดยทั่วไปผึ้งงานจะออกทำหน้าที่เป็นผึ้งสนามก็เมื่ออายุประมาณ 3 อาทิตย์ สิ่งที่ผึ้งสนามจะขนเข้ามาในรังก็คือน้ำหวาน (Nectar) เกสร (Pollen) น้ำ (Water) และยางไม้ (Propolis)

การเก็บเกสร เกสรผึ้งจะใช้เป็นแหล่งของโปรตีน ไขมัน เกลือแร่ และวิตามินต่าง ๆ เพื่อใช้ในการผลิตเป็นอาหารของตัวอ่อนของผึ้ง และผึ้งที่เป็นตัวเต็มวัยใหม่ ๆ ผึ้งเก็บเกสรดอกไม้ด้วยการเอาตัวลงไปคลุกเคล้ากับเกสรดอกไม้ เกสรก็จะติดที่ขนตามตัวผึ้ง ผึ้งก็จะใช้หวีที่อยู่ที่ขา มีลักษณะเป็นขนแข็งเรียงเป็นแถว ผึ้งจะใช้หวีนี้คราดไปตามลำตัวเอาเกสรไปอัดรวมเก็บไว้ที่ตะกร้อเก็บเกสรที่ขาหลังทั้ง 2 ข้าง ผึ้งงานจะเก็บเกสรในเวลาเช้า ทั้งนี้เพราะต้องมีความชื้นพอที่จะปั้นเกสรเป็นก้อนได้ ถ้าอากาศแห้งผึ้งก็ไม่สามารถเก็บเกสรได้

ผึ้งงานจะเก็บเกสรจากดอกข้าวโพด
ผึ้งงานจะเก็บเกสรจากดอกข้าวโพด

เมื่อผึ้งงานเก็บเกสรได้จนเต็มก็จะรีบบินกลับรัง และหาหลอดที่ต้องการแล้วก็จะหย่อนขาคู่หลังลงไปในหลอดรวง แล้วใช้ขาคู่กลางค่อย ๆ เขี่ยก้อนเกสรให้หลุดออก ก้อนเกสรก็ตกลงไปที่ก้นหลอดรวง แล้วก็เป็นหน้าที่ของผึ้งงานที่ดูแลรัง จะมาอัดเกสรให้ติดแน่นอยู่ที่ก้นรังอีกที่หนึ่ง โดยผึ้งจะผสมน้ำหวาน และน้ำลายลงไปในเกสรด้วย ทำให้เกสรนี้ไม่บูดหรือเสียสามารถเก็บได้เป็นเวลานาน แต่สีของเกสรจะเข้มขึ้น

การเก็บน้ำหวาน น้ำหวานเป็นอาหารสำคัญอีกชนิดหนึ่งของผึ้งเพื่อใช้เป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล น้ำหวาน (Necter) เป็นของเหลวที่มีรสหวานที่ผึ้งสกัดออกจากจากต่อมน้ำหวานที่อยู่ในดอกไม้ เพื่อที่จะเป็นรางวัลแก่ผึ้งหรือแมลงชนิดอื่น ๆ ที่ช่วยผสมเกสรให้เกสรแต่ต้นพืชนั้น

ผึ้งงานกำลังเก็บน้ำหวานจากดอกลำใย
ผึ้งงานกำลังเก็บน้ำหวานจากดอกลำใย

ผึ้งเก็บน้ำหวานโดยใช้ปากที่มีลักษณะเป็นท่อนยาว ดูดเอาน้ำหวานจากดอกไม้ น้ำหวานจะถูกเก็บไว้ในกระเพาะสำหรับเก็บน้ำหวานโดยเฉพาะผึ้งจะบินไปดูดน้ำหวานจากดอกไม้หลาย ๆ ดอก หรือหลายชนิดก็ได้ เพื่อเก็บน้ำหวานได้เต็มกระเพาะแล้วก็บินกลับรัง ผึ้งก็จะทำการเต้นรำเพื่อบอกแหล่งอาหารแก่ผึ้งตัวอื่น ๆ ถ้าแหล่งของน้ำหวานมีไม่มากก็จะไม่มีการ เต้นรำ ผึ้งก็จะเดินไปบนรวงจนเจอกับผึ้งแม่บ้าน ก็จะคายน้ำหวานออกให้เพื่อนำไปเก็บในหลอดรวง หรือนำไปเลี้ยงตัวอ่อนเลยก็ได้ จะคายน้ำหวานที่หามาได้ให้แก่ผึ้งแม่บ้านตัวเดียวทั้งหมดก็ได้ แต่ส่วนมากมักจะพบว่า ผึ้งจะคายน้ำหวานให้ผึ้งแม่บ้าน 3 ตัวขึ้นไป น้ำหวานที่ถูกเก็บ ไว้ในหลอดรวงก็จะถูกทำให้เข้มข้นขึ้นโดยการระเหยเอาน้ำออก องค์ประกอบของสารเคมี ภายในน้ำหวานจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยจนในที่สุด กลายเป็นน้ำผึ้งมีความเข้มข้นค่อนข้างสูง โดยทั่วไปน้ำผึ้งที่บ่มสุกได้ที่แล้วไม่ควรมีความชื้นหรือน้ำผสมอยู่เกินร้อยละ 21
การเก็บน้ำ ผึ้งใช้น้ำทำประโยชน์หลายอย่างภายในรังผึ้งพยาบาลต้องการน้ำ เพื่อ ใช้ผสมกับน้ำผึ้งให้เจือจางลง เพื่อใช้ในการทำอาหารสำหรับตัวอ่อน และน้ำก็จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของผึ้ง ตัวเต็มวัยเช่นเดียวกัน ทำการช่วยลดอุณหภูมิภายในรัง โดยผึ้งจะคายน้ำไว้ตามรวง ทั่ว ๆ ไป แล้วก็จะทำการกระพือปีกให้น้ำระเหยออกมาทำให้รังผึ้งนั้นเย็นลง

ผึ้งงานกำลังดูดน้ำไปใช้ประโยชน์ในรัง
ผึ้งงานกำลังดูดน้ำไปใช้ประโยชน์ในรัง

การเก็บยางไม้ ยางไม้ (Propolis) เป็นวัสดุที่มีความเหนียวที่ผึ้งขนเข้าไปใช้ในรังเก็บเพื่อใช้เคลือบผนังรังใช้ยึดคอนผึ้งให้แน่น ใช้อุดรู รอยแตกต่างๆ ใช้ปิดปากทางเข้ารังให้เล็กลง หรือใช้หุ้มสัตว์ตัวใหญ่ที่เกิดตายอยู่ในรัง ที่ผึ้งไม่สามารถขนออกไปทิ้งได้ เช่น พวกจิ้งจก ยางไม้ที่หุ้มตัวสัตว์นี้จะทำให้สัตว์ตัวนั้นไม่เน่า

ภาษาของผึ้ง (The Language of the Bees)

การเต้นรำของผึ้งจะมีจังหวะสำคัญ ๆ อยู่ 2 แบบ คือ
1. การเต้นรำแบบวงกลม (Round dance) โดยผึ้งจะเดินเป็นวงกลมเล็ก ๆ บน รวง เปลี่ยนทิศทางอยู่บ่อย ๆ ผึ้งจะเดินวนขวาเป็นวงกลมแล้วกลับวนซ้ายเป็นวงกลมอีกรอบหนึ่ง ผึ้งจะเต้นรำแบบนี้หลายวินาที หรือบางทีก็นานเป็นนาทีแล้วก็หยุด แล้วย้ายไปเต้นที่อื่นบนรวง ขณะที่ผึ้งทำการเต้นรำผึ้งตัวอื่น ๆ ก็จะเอาหนวดมาแตะตามลำตัวของผึ้งที่กำลังเต้นอยู่นั้น
2. การเต้นรำแบบส่ายท้อง (Wag-tail dance) ผึ้งจะเดินเป็นรูปครึ่งวงกลมทาง ซ้ายแล้วเดินเป็นเส้นตรง พอถึงจุดเริ่มก็จะเลี้ยวขวา เดินเป็นรูปครึ่งวงกลม และเดินเป็นเส้นตรงทับกับการเดินครั้งแรก จนถึงจุดเริ่มต้น เรียกว่าเดินครบหนึ่งรอบ ช่วงขณะที่ผึ้งเดินเป็นเส้นตรงผึ้งจะส่ายส่วนท้องไปมา ขณะที่เต้นรำผึ้งตัวอื่น ๆ ก็จะให้ความสนใจล้อมรอบและใช้หนวดแตะ

การเต้นบอกทิศทางแหล่งอาหารที่ได้สำรวจพบของผึ้งงาน (การเต้นรำแบบส่ายท้อง)
การเต้นบอกทิศทางแหล่งอาหารที่ได้สำรวจพบของผึ้งงาน (การเต้นรำแบบส่ายท้อง)

เมื่อผึ้งกลับจากแหล่งอาหารที่อยู่ในรัศมีไม่เกิน 100 หลาจากรังผึ้ง จะเต้นแบบวงกลม ถ้าแหล่งอาหารอยู่ไกลกว่า 100 หลาออกไป การเต้นรำของผึ้งจะเปลี่ยนไปเต้นรำแบบส่ายท้อง ซึ่งการเต้นรำแบบส่ายท้องจะบอกทั้งระยะทางและทิศทางของแหล่งอาหาร
ส่วนระยะทางของแหล่งอาหารจะบอกด้วยความเร็ว หรือช้าในการเต้นรำครบ 1 รอบ เช่น ถ้าแหล่งอาหารอยู่ห่างจากรัง 100 หลา ผึ้งจะเต้นรำแบบส่ายท้อง 9-10 รอบใน 15 วินาที ถ้าอยู่ห่าง 600 หลา จะเต้น 7 รอบ ใน 15 วินาที ถ้าอยู่ห่าง 1 กิโลเมตร จะเต้น 4 รอบใน 15 วินาที ถ้าอยู่ห่าง 6 กิโลเมตร จะเต้น 2 รอบใน 15 วินาที แสดงว่าถ้าแหล่งอาหารอยู่ไกลออกไป ผึ้งจะเต้นรำช้าลง
ผึ้งไม่ได้รู้ภาษามาแต่กำเนิด ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝนเอาภายหลังจนชำนาญแล้ว จึงออกบินหาอาหาร โดยเรียนรู้จากผึ้งรุ่นพี่ที่มีความชำนาญแล้ว เมื่อผึ้งรุ่นพี่เต้นรำ ผึ้งสาว ๆ ก็จะเอาหนวดไปแตะเพื่อที่จะเรียนรู้ว่าการเต้นรำนั้นหมายความอย่างไร และการเต้นเป็นแบบไหน การเต้นรำของผึ้งในแต่ละสายพันธุ์จะมีความใกล้เคียงกันเป็นส่วนมาก แต่ก็มีข้อแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย

การแยกรังของผึ้ง (Swarming)

การแยกรัง (Swarming) เราถือว่าเป็นขบวนการขยายพันธุ์ที่แท้จริงของผึ้งเพราะจำนวนหน่วยของสังคม (Colony) ได้เพิ่มขึ้น เราไม่ถือว่าการที่นางพญาวางไข่ ภายในรังเป็นการขยายพันธุ์ เพราะถ้าเกิดผึ้งนางพญาตายไปไม่มีตัวใหม่มาทดแทน ผึ้งรังนั้นก็จะสลายไปในที่สุด
การแยกรังของผึ้งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรังผึ้งรังนั้นมีจำนวนประชากรของผึ้งหนาแน่นมาก และภายในรังไม่มีที่ที่จะสร้างรวงใหม่เพิ่มขึ้นได้ ผึ้งภายในรังจะอยู่กันอย่างแออัด ฟีโรโมนของผึ้งนางพญากระจายไม่ทั่วถึง ทำให้ผึ้งงานรู้สึกว่าขาดผึ้งนางพญาจึงสร้างหลอดรวงที่มีลักษณะคล้ายถ้วยคว่ำ ส่วนมากจะสร้างติดอยู่ที่ขอบรวงด้านล่าง จำนวนหลอดรวงไม่แน่นอน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 4-20 หลอด ผึ้งงานก็จะต่อหลอดรวงถ้วยคว่ำให้มีขนาดยาวออกเรื่อย ๆ และปิดหลอดรวงในที่สุด หลอดรวงที่ปิดแล้วจะมีลักษณะคล้ายฝักถั่วลิสง (Swarm queen cell)
การเกาะกลุ่มกัน ณ ที่พักชั่วคราวพบว่า ผึ้งจะเกาะกันคล้ายม่าน เปลือกนอกผึ้ง จะเกาะกันอย่างหนาแน่นซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น มีช่องทางสำหรับเข้าไปภายใน ซึ่งจะมีผึ้งเกาะกันอย่างหลวม ๆ ผึ้งขณะแยกรังนี้จะมีการแบ่งหน้าที่กัน คือ ผึ้งที่มีอายุไม่เกิน 18 วัน จะเกาะตัวกันอยู่ภายใน คอยดูแลผึ้งนางพญา ส่วนผึ้งที่เกาะกันเป็นเปลือก 3 ชั้นนั้นจะมีอายุประมาณ 18-20 วัน ส่วนผึ้งที่มีอายุ 21 วันขึ้นไป จะมีหน้าที่เป็นผึ้งสำรวจ (Scout bees) คือทำหน้าที่ออกแสวงหาที่อยู่แห่งใหม่ให้กับพรรคพวกของตน

การแสวงหาแหล่งที่อยู่ใหม่

ผึ้งสำรวจ (Scout bees) ที่มีจำนวนหลายร้อยตัว จะบินออกจากที่ที่พักชั่วคราวออกไปในทิศทางต่างๆ กัน เพื่อแสวงหาแหล่งที่อยู่ใหม่ เมื่อพบโพรงไม้หรือโพรงหินที่พอจะอยู่อาศัยได้ก็จะเข้าไปสำรวจภายในว่าน่าอยู่หรือไม่ แล้วก็จะกลับมาเต้นรำบอกข่าวแก่กลุ่มผึ้ง การเต้นรำผึ้งก็จะเต้นรำแบบเดียวกับการเต้นรำบอกแหล่งอาหาร โดยเต้นรำอยู่บนผิวนอกที่เป็นตัวผึ้งนั้น ผึ้งสำรวจแต่ละตัวก็จะกลับมาส่งข่าวสารแตกต่างกัน ผึ้งสำรวจตัวไหนพบที่อยู่ใหม่ที่น่าอยู่จะเต้นรำอย่างตื่นเต้นและกระฉับกระเฉงจนผึ้งสำรวจตัวอื่น ๆ ให้ความสนใจและพากันไปดู ถ้าผึ้งสำรวจส่วนมากยอมรับสถานที่อยู่ใหม่ผึ้งกลุ่มที่ที่พักชั่วคราวจะพากันบินเข้าไปอยู่ ในสถานที่อยู่ใหม่ นั้น

การทิ้งรัง (Absconding)

การทิ้งรังหมายถึง การที่ผึ้งทิ้งรังเดิมพากันอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ การทิ้งรังนี้ไม่มีการสร้างนางพญาตัวใหม่ขึ้นมา แต่นางพญาพร้อมทั้งผึ้งทั้งหมดที่มีอยู่ในรังจะพากันอพยพออกจากรังเดิมจนหมด สาเหตุอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อมเดิมไม่เหมาะสม เช่น ขาดแคลนอาหารหรือน้ำ มีศัตรูรบกวนมาก หรือประสบภัยธรรมชาติ เราจะพบการทิ้งรังในผึ้งพันธุ์น้อยมาก และผึ้งจะไม่มีการทิ้งรังถ้าผึ้งนางพญาไม่ติดตามไปด้วย หรือยังมีตัวอ่อนหลงเหลืออยู่ในรัง

สารฟีโรโมนของผึ้ง

สารฟีโรโมนเป็นสารที่ทำหน้าที่เป็นสื่อแมลงสามารถติดต่อกันได้ ฟีโรโมนไม่ใช่ฮอร์โมน ความรู้สึกจริง ๆ ปกติเป็นสารที่ขับจากภายในเพื่อให้เกิดผลภายในกลุ่มแมลงนั้น ฟีโรโมนส่วนใหญ่สัมผัสได้โดยหน่วยของแมลง ในแมลงสังคมฟีโรโมนมีหน้าที่หลายอย่างในการรวมสมาชิกภายในรังของผึ้ง เช่นการถ่ายทอดข่าวสารภายใน รับการสัมผัสกันโดยแบ่งปันอาหารก็เป็นวิธีการส่งข่าวสารที่มีประสิทธิภาพ

ฟีโรโมนของผึ้ง (WORKER PHEROMONES)

ร่ายกายของผึ้งงานจะมีต่อมเป็นจำนวนมาก ที่สามารถผลิตฟีโรโมนได้ ในแต่ละต่อมจะผลิตสารฟีโรโมนที่ทำหน้าที่โดยเฉพาะอย่างของมัน
ก. ต่อมกลิ่น (The Nasanaff gland, Scent gland)
ในส่วนท้องของผึ้งงานจะประกอบด้วยปล้องเป็นจำนวนมากและแต่ละปล้อง จะเชื่อมต่อกันด้วยผนังบาง ๆ ด้วยเหตุนี้ส่วนท้องของผึ้งจึงเคลื่อนไหวโค้งงอได้ ทางออกของต่อมกลิ่น พบว่าอยู่ใต้ผนังเชื่อมระหว่างปล้องของปล้องที่ 6 เมื่อผึ้งต้องการจะปล่อยสารฟีโรโมน ผนังเชื่อมระหว่างปล้องจะถูกดันออกมาจากนั้นสารฟีโรโมนจะถูกปล่อยออกมา สารที่ปล่อยออกมานี้เรียกว่า จีรานีโอล (Geraniole) สารนี้จะช่วยให้ผึ้งหาทางเข้ารังได้ง่าย โดยผึ้งตัวแรกที่พบจะเป็นผู้ปล่อยและสารนี้ยังถูกปล่อยไว้ที่ปากทางเข้ารังก่อนที่ผึ้งนางพญาจะออกบินไปผสมพันธุ์และสารนี้ยังช่วยให้สมาชิกของรังรู้ทิศทางเมื่อออกจากรังไป ศาสตร์จารย์ จอนฟริซ เชื่อว่าสารนี้ช่วยบอกตำแหน่งของดอกไม้ให้แก่ผึ้งเมื่อผึ้งตัวแรกมาตอมก่อนแล้ว แต่ยังไม่มีการศึกษากันมากนัก
ข. ฟีโรโมนเตือนภัย (The Alarm Pheromone)
ฟีโรโมนนี้ผลิตจากต่อมโคเชพนิคอฟ (The Koshevnikov gland) ในอวัยวะ เหล็กไนเมื่อผึ้งต่อยศัตรูแล้ว จะปล่อยสารนี้ทำให้ผึ้งตัวอื่นได้กลิ่นและจะต่อยซ้ำในที่เดิม ส่วนประกอบของสารนี้เป็นพวก Isopentyl acetae แต่ยังมีสารอื่นผสมอยู่ด้วยถึง 18 ชนิด รวมกันทำให้มีปฏิกริยาเป็นฟีโรโมนเตือนภัยเฉพาะสาร Isopentyl acetate อย่างเดียวไม่สามารถจะทำให้เกิดปฎิกิริยาเตือนภัยได้
ค. ต่อมที่กรามของผึ้งงาน (Mandibular glands of the Worker bee)
ต่อมนี้ทำหน้าที่ผลิตสาร 10-hydroxy decanoic acid ซึ่งมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของบักเตรี และต่อมนี้ยังผลิตสาร heptan-2-one ซึ่งเป็นฟีโรโมนเตือนภัยเพื่อเป็นสื่อให้ผึ้งรู้ว่าสิ่งใดควรจะต้องต่อย
ง. ต่อมปลายเท้า (Pre-trass gland)
หน้าที่ที่แท้จริงยังไม่มีใครทราบแต่ดูเหมือนว่าผึ้งจะปล่อยสารประเภทไขมัน จากต่อมไปบนดอกไม้ที่ผึ้งไปตอม และผึ้งตัวอื่นจะไม่ไปตอมในดอกเดียวกัน

ฟีโรโมนนางพญา (QUEEN PHEROMONES)

ในกรณีที่เรานำนางพญาออกจากรัง จะมีการเปลี่ยนแปลงภายในรังหลายอย่าง นางพญามีต่อมอยู่คู่หนึ่งอยู่เหนือกรามในส่วนตัว ต่อมจะผลิตสารประเภทไขมัน เรียกว่า "QUEEN SUBSTANCE" สารที่ผลิตจากต่อมนี้มีหน้าที่หลายอย่างในหลาย ๆ กิจกรรม ภายในรัง
ก. ยับยั้งการสร้างหลอดเซลนางพญาในกรณีฉุกเฉิน หลังจากที่นางพญานำ ออกไปจากรัง ผึ้งจะสร้างหลอดเซลนางพญาโดยทันทีบนหลอดเซลหกเหลี่ยม ซึ่งมีไข่หรือมีตัวหนอนภายใน โดยทั่วไปหลอดเซลนี้จะพบในบริเวณที่วางไข่ตรงกลางรวง ตัวหนอนจะถูกตัดสินให้เป็นนางพญาโดยการได้รับอาหารแตกต่างไปจากที่เคยได้รับ
องค์ประกอบส่วนใหญ่จากสารที่ผลิตมาจากต่อมที่กรามของนางพญา คือ 9-Oxodec-Trans-2-enoic acid ซึ่งช่วยในการยับยั้งในการสร้างหลอดนางพญา ในกรณีฉุกเฉิน ภายในรังหรือเพียงแต่อยู่ในกรงที่มีประชากรผึ้งประมาณ 300 ตัว ซึ่งทดลองโดยชาวอังกฤษชื่อ บัตเลอร์
ข. ยับยั้งการเจริญเติบโตของรังไข่ผึ้งงาน นางพญาเป็นผู้เดี่ยวที่วางไข่โดย การปล่อยสารที่สามารถยับยั้งการเจริญของรังไข่ผึ้งงาน เมื่อเรานำนางพญาออกจากรัง รังไข่ของผึ้งงานก็จะเริ่มเจริญขึ้น แต่อย่างไรก็ตามผึ้งงานที่มีรังไข่เจริญก็ไม่สามารถจะผสมพันธุ์กับผึ้งตัวผู้ได้ ไข่ที่ผึ้งงานวางก็จะเป็นไข่ที่ไม่ได้รับผสมและฟักออกมาเป็นตัวผู้เพียงอย่างเดียว รังผึ้งในสภาพเช่นนี้เราเรียกว่า รังตัวผู้ ผึ้งงานที่วางไข่ต่อมาก็จะเหลือนางพญา คือ สร้างสารที่ยับยั้งการเจริญของรังไข่ผึ้งงานอื่น ๆ ที่เหลือ สารที่ผลิตออกมา คือ 9-Oxodec-Trans-2 enoic acid เป็นตัวที่ไปยับยั้งการเจริญของรังไข่ผึ้งงาน
ค. ดึงดูดผึ้งตัวผู้ในระหว่างเที่ยวบินผสมพันธุ์ เป็นสารชนิดเดียวกันกับที่กล่าว มาทำหน้าที่ดึงดูดผึ้งตัวผู้ให้ติดตามนางพญาในขณะที่นางพญาบินออกจากรังเพื่อไปผสมพันธุ์
ง. ดึงดูดผึ้งงานให้ดูแลนางพญาอยู่ในรัง เมื่อเข้าไปตรวจสอบรังเราจะพบว่า นางพญาจะถูกห้อมล้อมไปด้วยผึ้งงานอยู่ตลอดเวลา โดยผึ้งงานทำหน้าที่ดูแลนางพญา ป้อนอาหารและที่เลียทำความสะอาดนางพญา ปรากฎว่าสิ่งที่ดึงดูดมากที่สุดคือ ต่อมกรามซึ่งอยู่ในส่วนหัวของนางพญา นางพญาถ้าขาดต่อมดังกล่าวจะไม่สามารถดึงดูดผึ้งงานได้ นางพญาที่ออกใหม่ ๆ จะผลิตสารนี้ได้ก็ต่อเมื่ออายุได้ 3-4 วัน
ในกรณีที่นางพญาออกจากหลอดนางพญาหลายตัวพร้อมกัน นางพญาที่ออกมาจะพยายามค้นหานางพญาตัวอื่น โดยมีสารที่ผลิตออกจากอวัยวะเหล็กไนเป็นสื่อ (The koschevnikov gland) และเราเรียกว่า "Stress pheromone" (ฟีโรโมนที่มีความกดดัน) ในกรณีเช่นนี้ นางพญาจะต้องสู้กันและจะมีนางพญาตัวหนึ่งสามารถต่อยตัวอื่นตายหมด ถ้าเราปิดส่วนปลายของเหล็กไนนางพญาพรหมจรรย์ด้วยไขมันร้อน ๆ การต่อสู้นี้จะไม่เกิดขึ้น นางพญาที่ออกมาก่อนหรือตัวชนิดจะพยายามค้นหาคู่ต่อสู้หรือค้นหาหลอดนางพญาที่ยังเป็นดักแด้อยู่ โดยการฟังเสียงพิเศษจากดักแด้นางพญา
ในฤดูที่ผึ้งแยกรัง นางพญาจะไม่สามารถทำลายคู่ต่อสู้ซึ่งอยู่ในหลอดนางพญาได้ เนื่องจากผึ้งงานจะพยายามป้องกันหลอดเซลเหล่านี้อย่างหนาแน่น
ได้มีการค้นพบว่ากลิ่นของรังแต่ละรังที่ต่างกันไปนั้น คือ กลิ่นของน้ำหวานและเกสรต่างกัน ไม่ใช่เพราะกลิ่นสารที่ผลิตจากต่อมที่กรม (Mandibular gland) เพราะว่าส่วนประกอบของสารที่ผลิตออกมานั้นเหมือนกัน

ฟีโรโมนของผึ้งตัวผู้ (MALE PHEROMONES)

ได้มีผู้บันทึกไว้ว่าผึ้งตัวผู้ปกติจะออกบินติดตามกลิ่นจากสารที่ผลิตมาจากต่อมที่กรามที่ทำให้ผึ้งบินมารวมกัน ความสำเร็จในการผสมพันธุ์กับนางพญาขึ้นอยู่กับความสามารถในการติดตามแนวทางกลิ่นของสารจากนางพญา
ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ ปรากฎว่าเปอร์เซนต์การผสมพันธุ์จะสูงเนื่องจากเป็นช่วงเวลาในการบินของตัวผู้และนางพญาตรงกัน การผสมพันธุ์หรือเที่ยวบินผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในระหว่างเวลา 14.00-16.00 น.

เมนูหลัก ผึ้งและการเลี้ยงผึ้ง